พระราชบัญญัติ หอพัก พ.ศ. 2507
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยหอพัก
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภาดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2507”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2507 เป็นต้นไป และเมื่อจะให้ใช้บังคับในท้องที่อื่นใด ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“หอพัก” หมายความว่า สถานที่ที่จัดขึ้นเพื่อรับผู้พักตามพระราชบัญญัตินี้
“ผู้พัก” หมายความว่า ผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและเข้าอยู่ในหอพักโดยให้ทรัพย์สินตอบแทน
“เจ้าของหอพัก” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นเจ้าของกิจการหอพัก
“ผู้จัดการหอพัก” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินกิจการหอพัก
“นายทะเบียน” ในจังหวัดพระนครและ จังหวัดธนบุรี หมายความว่าผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ ในจังหวัดอื่นหมายความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ที่หอพักตั้งอยู่
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4 พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่หอพัก ดังต่อไปนี้
(1) หอพักของกระทรวง ทบวง กรม
(2) หอพักที่รับผู้พักน้อยกว่าห้าคน
(3) หอพักที่รับผู้พักโดยไม่เรียกทรัพย์สินตอบแทน
(4) หอพักตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการ
ตามพระราชบัญญัติ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่น เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด 1
การตั้งหอพัก
มาตรา 6 หอพักมี 2 ประเภท คือ
(1) หอพักชาย สำหรับผู้พักที่เป็นชาย
(2) หอพักหญิง สำหรับผู้พักที่เป็นหญิง
มาตรา 7 ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งหอพัก เว้นแต่ผู้นั้นจะเป็นเจ้าของหอพักและได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน
มาตรา 8 เจ้าของหอพักต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(1) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(2) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
(3) ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(4) ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
(5) ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้าง ในระยะปรากฎอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคยาเสพย์ติดให้โทษอย่างร้ายแรง โรคพิษสุราเรื้อรัง
ในกรณีนิติบุคคลเป็นเจ้าของหอพัก นิติบุคคลนั้นต้องตั้งผู้แทนซึ่งมีคุณสมบัติตามวรรคก่อนให้ปฎิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา 9 หอพักอย่างน้อยต้องมีห้องนอน ห้องต้อนรับผู้เยี่ยมเยียน ห้องอาหาร ห้องน้ำและห้องส้วม ซึ่งมีสภาพถูกสุขลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 10 เจ้าของหอพักต้องจัดให้มีระเบียบประจำหอพักซึ่งอย่างน้อยมีข้อกำหนดดังต่อไปนี้
(1) หลักเกณฑ์การรับผู้พัก
(2) อัตราค่าเช่าหอพัก ค่าอาหาร และค่าบริการอื่น ๆ
(3) เวลาเข้าออกหอพัก
(4) การเยี่ยมผู้พัก
(5) การรักษาพยาบาล
(6) การค้างแรมที่อื่น
(7) การห้ามผู้พักมิให้ก่อความรำคาญแก่ผู้อยู่ใกล้เคียง
ระเบียบประจำหอพักให้ใช้ได้ต่อเมื่อนายทะเบียนเห็นชอบแล้ว
การแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบประจำหอพักต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน
มาตรา 11 การขออนุญาตให้ตั้งหอพักและการออกใบอนุญาตให้ตั้งหอพักให้เป็นไปตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 12 ใบอนุญาตให้ตั้งหอพักให้ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ออกใบอนุญาต
การต่ออายุใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าสามสิบวันตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 13 ในกรณีที่นายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้ตั้งหอพักผู้ ขออนุญาตหรือผู้ขอต่อใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อ รัฐมนตรีภายในสามสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือนายทะเบียนแจ้งการไม่อนุญาตหรือไม่ต่ออายุใบ อนุญาต คำวินิจฉัยของ รัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
มาตรา 14 ในกรณีใบอนุญาตให้ตั้งหอพักสูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญให้เจ้าของหอพักแจ้งต่อนายทะเบียน และยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวัน นับตั้งแต่วันที่ได้ทราบว่าใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลาย
มาตรา 15 เจ้าของหอพักต้องแสดงใบอนุญาตให้ตั้งหอพักไว้ ณ ที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายในหอพัก
มาตรา 16 เจ้าของหอพักต้องจัดให้มีป้ายคำว่า หอพัก ซึ่งของหอพัก และประเภทหอพักชายหรือหอพักหญิง เป็นภาษาไทยขนาดใหญ่ พอเห็นได้ในระยะอันสมควรติดไว้ ณ หอพักในที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายจากภายนอกอาคาร
มาตรา 17 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมหอพักให้เจ้าของหอพักแจ้งเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนภายในเจ็ดวันก่อนแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม
หมวด 2
การจัดการหอพัก
มาตรา 18 หอพักจะดำเนินกิจการได้ ต้องมีผู้จัดการหอพัก
มาตรา 19 ห้ามมิให้ผู้ใดจัดการหอพัก เว้นแต่จะได้รับแต่งตั้งจากเจ้าของหอพักและได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน
เจ้าของหอพักซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจะเป็นผู้จัดการหอพักเองก็ได้ แต่ต้องได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพักด้วย
มาตรา 20 ผู้จัดการหอพักต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับเจ้าของหอพักตามมาตรา 8
มาตรา 21 การขออนุญาตเป็นผู้จัดการหอพัก และการออกใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพัก ให้เป็นไปตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 22 ใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพักให้ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ออกใบอนุญาต
การต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพัก ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุไม่น้อยกว่าสามสิบวันตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 23 ในกรณีนายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพักหรือ ไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้ ผู้ขออนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนายทะเบียนแจ้งการไม่อนุญาตหรือไม่ต่ออายุใบ อนุญาต คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
มาตรา 24 ในกรณีใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพักสูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญให้ผู้จัดการหอพักแจ้งต่อนายทะเบียนและยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบว่าใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลาย
มาตรา 25 ผู้จัดการหอพักต้องแสดงใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพักไว้ ณ ที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายในหอพัก ทั้งต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรา 15 และมาตรา 16 ด้วย
มาตรา 26 ผู้จัดการหอพักต้องจัดทำสมุดทะเบียนผู้พักตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงและอย่างน้อยให้มีรายการดังต่อไปนี้
(1) ชื่อ และอายุของผู้พัก
(2) ชื่อของโรงเรียน หรือสถานศึกษาของผู้พัก
(3) ชื่อและที่อยู่ของบิดา มารดา และผู้ปกครองของผู้พัก
(4) วันที่เข้าอยู่ในหอพักและวันที่ออกจากหอพัก
(5) ลายมือชื่อผู้พัก
การกรอกข้อความในสมุดทะเบียนผู้พัก ต้องกรอกทุกรายการแล้วให้ผู้จัดการและผู้พักลงลายมือชื่อไว้ด้วย ถ้ารายการใดเขียนผิดห้ามลบ แต่ให้ขีดฆ่าแก้ หรือตกเติมแล้วให้ผู้จัดการหอพักและผู้พักลงลายมือชื่อกำกับไว้
มาตรา 27 ผู้จัดการหอพัก ต้องให้ความร่วมมือแก่สถานศึกษาของผู้พักในเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา และความประพฤติของผู้พัก
มาตรา 28 ผู้จัดการหอพัก ต้องไม่รับหรือยอมให้บุคคลซึ่งขาดคุณสมบัติตามมาตรา 8(2) (3) (4) หรือ (5) ทำงานในหอพัก และเฉพาะหอพักหญิงต้องใช้หญิงเท่านั้นเป็นผู้ทำงานในหอพัก
มาตรา 29 เมื่อปรากฎหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้พักตกอยู่หรือจะตกอยู่ในอันตรายเพราะเหตุเจ็บป่วยหรือเหตุอื่นใดก็ตาม ให้ผู้จัดการหอพักแจ้งให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองของผู้พักทราบโดยด่วน
มาตรา 30 ผู้จัดการหอพักต้องควบคุมดูแลมิให้หญิงเข้าอยู่ในหอพักชาย และมิให้ชายเข้าอยู่ในหอพักหญิง
หมวด 3
อำนาจหน้าที่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา 31 นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในหอพักใน เวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เพื่อตรวจตราควบคุมให้การปฏิบัติได้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้บุคคลที่อยู่ ในสถานที่นั้นต้องให้ความสะดวกตามสมควร
ในกรณีจำเป็น นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนมีอำนาจเข้าไปตรวจหอพักนอกเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่งได้
นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าตรวจหอพักจะต้องมีบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดโดยกฎกระทรวงและพร้อมที่จะแสดงได้ด้วย
มาตรา 32 นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหอพักหรือผู้จัดการหอพักจัดการหรือแก้ไขหอพัก หรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในกำหนดเวลาที่นายทะเบียนเห็นสมควร
มาตรา 33 เมื่อปรากฎว่าเจ้าของหอพักหรือผู้จัดการหอพักแล้วแต่กรณี
(1) เป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 8 หรือ มาตรา 20
(2) ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 32 โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(3) ดำเนินกิจการหอพัก เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีหรือเป็นภัยต่อประเทศชาติ
นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมหรือดำเนินกิจการหอพักนั้น หรือถ้าเห็นสมควรจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก หรือใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพักโดยอนุมัติ รัฐมนตรีก็ได้
ค่าใช้จ่ายในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมหรือดำเนินกิจการหอพัก ให้เจ้าของหอพักเป็น ผู้จ่าย
มาตรา 34 ในการสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าควบคุม หรือดำเนินกิจการหอพักให้นายทะเบียนแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหอพักและผู้จัดการหอพักทราบ
เมื่อนายทะเบียนได้แจ้งคำสั่งตามวรรคก่อนแล้ว ห้ามมิให้เจ้าของหอพักและผู้จัดการหอพักดำเนินกิจการต่อไป เว้นแต่จะได้รับมอบหมายจากนายทะเบียน
หมวด 4
บทกำหนดโทษ
มาตรา 35 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 หรือมาตรา 19 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 36 เจ้าของหอพักผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 14 มาตรา 15 มาตรา 16 หรือ มาตรา 17 หรือ ผู้จัดการหอพักผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 24 หรือมาตรา 25 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
มาตรา 37 ผู้จัดการหอพักผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 หรือมาตรา 30 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
(ลงชื่อ) จอมพล ถนอม กิตติขจร
(ถนอม กิตติขจร)
นายกรัฐมนตรี
อัตราค่าธรรมเนียม
1. ใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก 200 บาท
2. ใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพัก 100 บาท
3. การต่ออายุใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก 100 บาท
4. การต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพัก 50 บาท
5. ใบแทนใบอนุญาตให้ตั้งหอพัก 20 บาท
6. ใบแทนใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการหอพัก 20 บาท
หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศ ใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปรากฎว่าเด็กและเยาวชนหรือผู้ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาเข้ามาศึกษา เล่าเรียนในจังหวัดพระนครหรือในจังหวัดใหญ่ ๆ บางจังหวัด และเข้าพักอยู่ในหอพักของเอกชนได้ทวีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ บรรดาหอพักต่าง ๆ ของเอกชนที่จัดตั้งขึ้นไม่มีกฎหมายควบคุม ผู้จัดตั้งหอพักได้ ดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการค้ามากกว่าเพื่อสวัสดิภาพและอาจก่อให้เกิดความ ไม่สงบเรียบร้อย ผิดศีลธรรมอันดี หรืออาจเป็นภัยต่อประเทศชาติ จึงสมควรให้มีกฎหมายควบคุมการจัดตั้งหอพักของเอกชน
(คัดจากราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษเล่ม 81 ตอนที่ 27 วันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2507)