มาดูทีละประเด็นที่คุณหยาดถามกันเลยครับ
1. ทำธุรกิจเกี่ยวกับอพาร์ทเม้นท์ และมีเงินได้อยู่ 2 ส่วนคือ
1.1 รายได้จากค่าเช่า ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้ คือ
(1) การให้เช่าทรัพย์สิน ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้
ก. หักตามความจำเป็นและสมควรหรือ
ข. หักเป็นการเหมาในอัตราที่กำหนด
กรณีผู้ให้เช่าทรัพย์สิน เรียกเก็บเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง หรือเงินค่าซ่อมแซม อีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากค่าเช่า หรือได้รับประโยชน์อื่น เช่น ได้กรรมสิทธิ์ในอาคารหรือโรงเรือนที่ผู้เช่าทำการก่อสร้างลงบนที่ดินของผู้ให้เช่าแล้วยกให้ เงินหรือกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือโรงเรือนเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สินของผู้ให้เช่า
กรณีที่เจ้าของที่ดินทำสัญญาให้ผู้อื่นทำการปลูกสร้างอาคารหรือโรงเรือนที่ดินของตน โดย ผู้ปลูกสร้างยกกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือโรงเรือนที่ปลูกสร้างนั้นให้แก่เจ้าของที่ดินเมื่อสร้างเสร็จ และเจ้าของที่ดินตกลงให้ผู้ปลูกสร้างเช่าหรือให้เช่าช่วงอาคารหรือโรงเรือน หรือตกลงให้ผู้สร้างจัดหาผู้เช่าอาคารหรือโรงเรือนนั้นโดยตรงจากเจ้าของที่ดินเป็นการตอบแทนภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้คำนวณค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนนั้น เป็นเงินได้พึงประเมินของเจ้าของที่ดินตาม จำนวนปีแห่งอายุการเช่าใน อัตราร้อยละของมูลค่าอาคาร หรือ โรงเรือนในวันที่ได้รับกรรมสิทธิ์
http://www.rd.go.th/publish/556.0.html1.2 รายได้จากค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศํพท์ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กฎหมายยอมให้เลือกหัก ค่าใช้จ่ายวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
- หักตามความจำเป็นและสมควร หรือ
- หักเป็นการเหมาในอัตราร้อยละตามที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งก็เหมาะสมที่จะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจ่ายจริงครับ
2. เราสามารถนำค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารมาทำเป็นต้นทุนสินทรัพย์เพื่อหักเป็นค่าเสื่อมราคาได้ครับ แต่จะต้องมีเอกสารที่สมบูรณ์ประกอบรายการทรัพย์สินนั้น เช่น สัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคาร หรือบิลซื้อค่าวัสดุก่อสร้างที่สมบูรณ์ เป็นต้น จึงจะสามารถถือเป็นต้นทุนทรัพย์สิน แล้วเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจ่ายจริง ซึ่งก็คือ การหักค่าเสื่อมราคา
จึงสรุปได้ว่า การเสียภาษีแบบเหมาจ่ายเหมาะสมกับธุรกิจที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์รายจ่าย ในกรณีนี้ก็คือ พวกสัญญารับเหมาก่อสร้าง หรือ บิลซื้อค่าวัสดุก่อสร้างที่สมบูรณ์ ส่วนการหักค่าใช้จ่ายตามจ่ายจริง จะเน้นในเรื่องของความสมบูรณ์ของเอกสารจ่าย จะเลือกตามจ่ายจริงต่อเมื่อมีเอกสารประกอบรายจ่ายที่สมบูรณ์เท่านั้นครับ
3. การเลือกขอหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรนี้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกปฏิบัติได้ว่า ปีใดจะหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา หรือปีใดจะหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและ สมควรได้ นอกจากนี้ในปีภาษีเดียวกันเองผู้มีเงินได้ยังอาจหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาสำหรับเงินได้ประเภทหนึ่ง และหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรสำหรับเงินได้อีกประเภทหนึ่งได้ด้วย แต่เงินได้ประเภทและชนิด เดียวกัน หากเลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดแล้ว จะต้องใช้วิธีเดียวกันสำหรับเงินได้ประเภทนั้นทั้งประเภท
http://www.rd.go.th/publish/6055.0.html4. เมื่อมีการแยกประเภททรัพย์สินการให้เช่าที่ชัดเจน ก็สามารถหักเหมาค่าใช้จ่ายได้ตามประเภทของทรัพย์สินที่ให้เช่าได้ครับ
5. ส่วนคำถามที่เกี่ยวกับรับเงินค่าเช่าห้องล่วงหน้า รบกวนคุณหยาดอ่านกระทู้ที่ 02686 ดูก่อนครับ
http://www.avaccount.com/wb/show.php?No=2686&c=act6. เมื่อครบองค์ประกอบการดำเนินธุรกิจในรูปของคณะบุคคล ต้องทำสัญญาในนามของคณะบุคคลครับ
7. โฉนดที่ดินไม่สามารถ ระบุชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในนามของคณะบุคคลได้ครับ เพราะคณะบุคคลเป็นเพียงหน่วยภาษี ทางกรมที่ดินจะระบุชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นชื่อบุคคลครับ
ที่ดินไม่มีการคิดค่าเสื่อมราคาครับ
ส่วนใบเสร็จค่าก่อสร้าง จะแก้ไขเป็นชื่อคณะบุคคลได้หรือไม่นั้น ก็ต้องมาดูครับว่า ผู้รับเหมาเป็นใคร และมีการทำสัญญารับเหมากันอย่างไรครับ
8. ก็ยังเป็นมุมมองที่แตกต่างกันในส่วนของชื่อในโฉนดที่ดินว่า ถ้าชื่อในโฉนดที่ดินระบุชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ผู้เดียวจะสามารถจดเป็นคณะบุคคลได้หรือไม่ ผมก็ลองมานั่งนึกว่าถ้าโฉนดที่ดินเป็นชื่อพ่อ ใบอนุญาติก่อสร้างก็เป็นชื่อพ่อ แต่เราจดคณะบุคคลก่อนการก่อสร้าง โดยระบุว่าพ่อลงทุนที่ดิน แม่และลูกๆ ลงทุนค่าก่อสร้าง ในกรณีนี้ผมว่าก็น่าจะจดเป็นคณะบุคคลได้ครับ ( เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวนะครับ )
9. หลักในการเสียภาษี ให้ดูกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์สินเป็นหลักครับ ดังนั้นผมว่าถ้าฐานรายได้ไม่สูง การกระจายฐานภาษีแล้วเสียภาษีในรูปของบุคคลธรรมดา เป็นการวางแผนภาษีที่เสียภาษีน้อยที่สุดครับ ( คณะบุคคลก็ถือเป็นหน่วยภาษีในรูปของบุคคลธรรมดา ) แต่ต้องไม่ลืมนะครับ ถ้าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์สินก็จะมีค่าธรรมเนียมและภาษีตามมา จะต้องนำมาพิจารณาด้วยครับว่ามีความคุ้มค่าแค่ไหนครับ
10. คณะบุคคลไม่สามารถเพิ่มชื่อได้ครับ หากมีการออกก็ถือว่าคณะบุคคลนั้นต้องแจ้งเลิกเท่านั้นครับ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผู้เป็นหุ้นส่วนในคณะบุคคลได้ครับ แต่สามารถจดคณะบุคคลขึ้นมาใหม่โดยใช้ชื่อเดิมได้ครับ
11. ส่วนการให้เช่าช่วง ก็คำนวณเหมือนกับการให้เช่าครับ เพียงแต่รายได้จะเกิดขึ้น 2 ครั้งตามการให้เช่า เช่น พ่อให้คณะบุคคลเช่า พ่อก็จะต้องมีรายได้ค่าเช่าจากคณะบุคคล ส่วนคณะบุคคลไปให้ผู้อื่นเช่าต่อ คณะบุคคลก็จะต้องมีรายได้ค่าเช่าอีกเช่นกัน เมื่ออยู่ในรูปของบุคคลธรรมดาวิธีการคำนวณก็เป็นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ
12. ต้องแบ่งผลกำไรให้กับผู้ลงทุนในคณะบุคคลเท่านั้นครับ ส่วนผู้ลงทุนในคณะบุคคลเมื่อได้รับผลกำไรแล้ว จะนำไปใช้จ่ายอย่างไร ก็เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลครับ
13. ผมมองว่า ถ้าคุณพ่อมีเงินได้จากหลายทาง ก็จะยิ่งทำให้ฐานภาษีสูงครับ เมื่อฐานภาษีสูงก็จะเสียภาษีมากครับ ในกรณีของคุณหยาด จะต้องนำรายได้ทุกทางมานั่งวิเคราะห์และคำนวณภาษี แล้วเปรียบเทียบดูครับว่าทางเลือกไหนจะทำให้เสียภาษีน้อยที่สุดครับ