หน้าแรก | เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก | ติดต่อโฆษณา | เกี่ยวกับเรา | ติดต่อเรา

บทความเรื่อง ภาษีที่ดินฯ

วางแผนภาษี บุคคลธรรมดา คะบุคคล นิติบุคคล ระบบบัญชีสำหรับ หอพัก
ภาษีเงินได้ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีป้าย สิทธิ์เก็บกิน ทำบัญชี...

บทความเรื่อง ภาษีที่ดินฯ

โพสต์โดย T เมื่อ พุธ 07 ต.ค. 2009 1:05 pm

อีกครั้งกับการวิเคราะห์โอกาสในการคลอดพรบ.ภาษีที่ดินฯ ที่วันนี้นักวิชาการประเมินว่า จะเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจของนักการเมืองไทย

วาน นี้ (5 ต.ค.) เป็นอีกครั้งที่ ทีมโครงการจับตานโยบายรัฐบาล หรือ Policy Watch ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หยิบยกเรื่อง “ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง” ออกมาพูดกับสาธารณชน ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า เรื่องนี้ดูจะเงียบๆ ไป หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ควงแขนนายกรณ์ จาติกวณิช ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจ้าของเรื่อง ประกาศท่าทีหนักแน่นว่าจะต้องผลักดันให้กฎหมาย “ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง” เกิดให้ได้

มาจนถึงวันนี้ เวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้ว ดูเหมือนเรื่องดังกล่าวจะเงียบไป โดยเฉพาะหลังจากที่ถูก “เบรก” ที่จะนำเข้าที่ประชุมครม. พิจารณาว่าจะ "ผ่าน" หรือ "ไม่ผ่าน"

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จึงขอนำเรื่องนี้มาเสนออีกครั้งพร้อมกับเชิญท่านผู้อ่านร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอีกเช่นเคย

ก่อนอื่นคงต้องให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่อง “ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง” จากข้อมูลที่รวบรวมโดยทีม Policy Watch อีกครั้งว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไรกับการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินระบบใหม่?

ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีม Policy Watch ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโครงสร้างการจัดเก็บภาษีโดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 ฐานภาษี ได้แก่ ฐานรายได้ ฐานการบริโภค และฐานทรัพย์สิน โดยที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการจัดเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินหรือที่เรียก ว่า “ภาษีทรัพย์สิน” เลย โดยเฉพาะในรูปที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งสะท้อนถึงความมั่งคั่งของผู้ครอบครอง จึงก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน เช่น ปัญหาการกระจายรายได้ และการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน

โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีเพียงการจัดเก็บภาษีที่เรียกว่า “ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่” ที่ถือว่าเป็นภาษีที่เกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จัดเก็บจากฐานรายได้และมูลค่าที่ดินที่ไม่เป็นปัจจุบันและมีการรั่วไหล เป็นเหตุผลให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทีม Policy Watch เห็นว่าเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม ลดปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินของคนเพียงกลุ่มเดียว หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ข้อบกพร่องของภาษีเดิม คือ ภาษีโรงเรือนฯ คำนวณภาษีบน “ฐานรายได้” หรือที่เรียกกันว่า “ค่ารายปี” ในสัดส่วน 12.5% มิใช่บน “ฐานความมั่นคั่ง” อีกทั้ง ยังใช้ดุลพินิจ จนทำให้เกิดการรั่วไหลของภาษีได้ง่าย การยกเว้นภาษีจนทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน กลายเป็นปัญหาในการบริหารจัดการ และอัตราภาษีที่สูงอย่างค่ารายปี 12.5% ยังทำให้เกิดการเลี่ยงภาษีมากขึ้นอีกด้วย

ขณะที่ภาษีบำรุงท้องที่ ใช้อัตราภาษีถดถอย ถ้าราคาที่ดินยิ่งสูงขึ้น อัตราภาษีจะต่ำ ทำให้จัดเก็บรายได้ได้ต่ำ รวมถึง ราคาปานกลางยังล้าสมัย เพราะคิดจากฐานเดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

หลักการจัดเก็บภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง ระบบภาษีใหม่ ภาระภาษีจะตกอยู่กับคนในระดับบนมากกว่าคนในระดับล่าง ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขยายฐานภาษีรายรับเพิ่มขึ้น โดยพรบ.ภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง อัตราการจัดเก็บเป็นเพดานสูงสุด ดังนี้ ที่ดินในเชิงพาณิชย์ อัตราไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย อัตราไม่เกิน 0.1% และที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อัตราไม่เกิน 0.05% ของฐานภาษี โดยจะมีคณะกรรมการกลางประเมินอัตราภาษี ทุก 4 ปี

หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วสังคมจะได้อะไร? จากการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีทรัพย์สินรูปแบบใหม่ ผศ.ดร.ดวงมณี อธิบายว่า การคำนวณภาษีจากฐานทรัพย์สิน จะก่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดการรั่วไหลของภาษี อัตราภาษีไม่ถดถอย ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น การใช้ประโยชน์ที่ดินมีประสิทธิภาพ ขยายฐานภาษี เพิ่มรายรับภาษี และยังช่วยให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ดวงมณี ยังกล่าวถึง ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในประเทศไทย ในหลายจังหวัดมีปัญหาการกักตุนที่ดินในกลุ่มของนักการเมือง หรือนายทุนต่างๆ เช่น ภูเก็ต กลุ่มคน 50 คนถือครองที่ดินในภูเก็ตรวมกว่า 14.23% หมายถึง ที่ดิน 14.23% ของทั้งจังหวัด อยู่ในมือคนเพียง 50 คน ดูจากสัดส่วนอาจมองเห็นเป็นตัวเลขไม่เยอะ แต่หากดูเป็นจำนวนที่ดินจริงๆ แล้วไม่น้อยทีเดียว หรือในกรุงเทพฯ ก็ดี ที่ดิน 10.07% ของทั้งหมด อยู่ในมือกลุ่มคน 50 คนเช่นเดียวกัน

ขณะที่จากการศึกษาการถือครองที่ดินของนักการเมืองตามรายงานที่ยื่นให้กับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เลือกเฉพาะ 10 คนที่มีการถือครองสูงสุด จะเห็นได้ว่า นักการเมือง 10 คนมีที่ดินอยู่ในมือรวมแล้วมีมูลค่าสูงกว่า 5 พันล้านบาท นักการเมืองเพียงแค่ 10 คนเท่านั้น ยังไม่พูดถึงนักการเมืองคนอื่นๆ หรือแม้แต่ทรัพย์สินที่นักการเมืองใน 10 คนนี้ไม่ได้เปิดเผยอีก คาดว่าจะมีจำนวนมหาศาล

จากข้อมูลดังกล่าว อาจสะท้อนได้ว่า เหตุผลที่ พรบ.ภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง ไม่เพียงแต่จะไม่ผ่านการพิจารณาเท่านั้น แต่ยังไม่เคยได้มีโอกาสเข้าที่ประชุมครม.เพื่อพิจารณาเลยแม้แต่เพียงครั้ง เดียว

ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวว่า การที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไว้ตั้งแต่ตอนรับตำแหน่งว่า จะผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้ผ่าน จึงเป็นที่จับตามองของนักวิชาการว่า จะผ่านได้จริงหรือไม่? ในเมื่อเห็นชัดเจนว่า จะส่งผลกระทบต่อตัวนักการเมืองผู้มีที่ดินในครอบครองอย่างมาก

จนสุดท้าย พรบ.ภาษีที่ดินฯ ก็ไม่สามารถเข้าครม.ในเดือนส.ค.อีกจนได้ ผศ.ดร.ดวงมณี ให้เหตุผลกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า "เป็นเรื่องยากและท้าทายพอสมควร"

แต่ ผศ.ดร.ดวงมณี ก็ย้ำว่า แต่ในความยาก รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ น่าจะใช้ประโยชน์จากความยากนี้ ผลักดันให้พรบ.ภาษีที่ดินฯ เกิดให้ได้ เพื่อเป็นผลงานชิ้นสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญ เพื่อพิสูจน์ความจริงใจว่า การพูดเรื่องนี้ รัฐบาลต้องการพูดจริง ทำจริง!! ไม่ใช่เพียงการพูดขึ้นมาเพียงเพื่อหวังผลบางอย่างในเชิงการเมือง

จากข้อมูลที่ ผศ.ดร.ดวงมณี นำเสนอ ประกอบกับการลุกขึ้นมา "ทวงถาม" รัฐบาลอีกครั้ง ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับพรบ.ภาษีที่ดินฯ ชี้ให้เห็นว่า นักวิชาการ นักกฎหมาย ต่างจับตามองอย่างจริงจังว่า รัฐบาลนี้จะเอาจริงสักเพียงใดกับการออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อระบบบริหาร งานส่วนท้องถิ่น และประชาชน แต่ ทำให้ "พวกพ้อง" น้องพี่นักการเมือง "เสียประโยชน์" ซึ่งหากทำสำเร็จ ก็หมายถึง การพิสูจน์ความจริงใจที่บรรดานักการเมืองไทยมีให้ประชาชนตามที่ประกาศหา เสียงจริงๆ แต่หากไม่สำเร็จ ก็เป็นไปตามเหตุผลที่หลายคนคาดการณ์

จะว่ากันตามจริงแล้ว ไม่เพียงนักการเมือง "อาจไม่เห็นด้วย" แต่บรรดานักลงทุน นักธุรกิจหลายคนก็อาจไม่เห็นด้วย แต่หากกฎหมายจะประกาศใช้จริงๆ ก๊วนนักลงทุนก็ประกาศว่า "พร้อมปรับตัว" รับกับการเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี ขึ้นอยู่กับว่า ต้นตอของเรื่องจะเอาจริงแค่ไหน

เรื่องนี้ก็คงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไป ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด หลังจากที่ ถูกเบรกไม่นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมครม.เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าภาพ ก็เร่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ไปปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดบางส่วน พร้อมกับทำประชาพิจารณ์ หากแต่บรรดานักวิชาการผู้จับตามองก็กังวลว่า การเปลี่ยนแปลงเก้าอี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเมื่อไม่นานนี้ จะมีผลให้การผลักดันเรื่องนี้ชะลอตัวไปอีกหรือไม่? เพราะคนวงในต่างวิเคราะห์ว่า "เรื่องจะช้าหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า มีคนชงเรื่องหรือไม่ด้วย"

บทพิสูจน์ความจริงใจของนักการเมืองไทยกับการคลอดพรบ.ภาษีที่ดินฯ ในครั้งนี้ ผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จะเกาะกระแสความเคลื่อนไหว และนำมารายงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นเช่นไรต่อประเด็นนี้ ก็ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นได้เลย

เรื่องโดย สุกัญญา สินถิรศักดิ์ (sukanya_sin@nationgroup.com)
T
 

ย้อนกลับไปยัง การวางแผนภาษี-บัญชี หอพัก

ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน

cron