ากกรณีที่รัฐบาล ชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนโยบายผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีมรดก ให้มีผลบังคับใช้ เพื่อขยายฐานภาษีไม่ให้เกิดการรั่วไหลและสามารถนำไปใช้บริหารประเทศนั้น
ต่อเรื่องนี้ แหล่งข่าวจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กระทรวงการคลัง เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ที่จะนำมาบังคับใช้แทนกฎหมายบำรุงท้องที่ และกฎหมายโรงเรือนที่หน่วยงานท้องถิ่นถือปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการผลักดันมานานหลายรัฐบาล แต่กลับไม่ผ่านการพิจารณาทุกครั้งไป ล่าสุด มั่นใจว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว จะสามารถผลักดันให้มีผลบังคับใช้ได้ทันในรัฐบาลชุดนี้
อย่างไรก็ดี มองว่า จะช่วยขยายฐานภาษีได้ครอบคลุมขึ้น โดยเฉพาะที่บ้านราคาแพงสำหรับผู้มีรายได้สูง ระดับ 5 ล้านบาทขึ้นไป ปัจจุบันกลับได้รับยกเว้นการเสียภาษี โรงเรือน ยกตัวอย่าง ที่อยู่อาศัยในเขตกทม. หากมีขนาดแปลงที่ดินไม่เกิน 100 ตารางวา กำหนดให้ไม่ต้องเสียภาษีเป็นต้น แต่ต่อไป ที่อยู่อาศัย อาคารทุกหลังจะไม่ได้รับการยกเว้น
นอกจากนี้ ในรายที่ชอบกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากตุนไว้ในมือต่อไป หากกฎหมายมีผลบังคับใช้จะยอมคลายที่ดินและกระจายให้กับชาวบ้านถือครองมาก ขึ้นเนื่องจากไม่สามารถทนแบกรับภาษีได้ เพราะหากไม่พัฒนา จะต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า2เท่าตัว โดยเฉพาะบริเวณที่ทราบข่าวว่าจะมีการตัดถนนใหม่ๆ พาดผ่านมักจะมีกลุ่มนายทุนเข้าไปกว้านซื้อเพื่อรอการพัฒนา หรือเก็งกำไร ทั้งที่ที่ดินเพิ่มมูลค่า หลายเท่าตัว แต่กลับไม่ต้องเสียภาษี
ที่สำคัญ การคำนวณการจัดเก็บภาษี โรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่นั้นใช้ฐานการคำนวณ จากราคาปานกลางของที่ดินแปลงนั้นๆ ปี 2521 เช่นราคาปานกลางอยู่ที่ 30,000 บาทต่อไร่ จะเสียภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่เพียงไร่ละ 70 บาทเป็นต้น หรือบางแปลงไม่ต้องเสียก็มี ขณะที่ราคาที่ดิน ปัจจุบันสูงมาก
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนสินทรัพย์ที่ได้อานิสงส์จากภาษีใหม่นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม อพาร์ตเมนต์ หอพัก บ้านเช่า ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ จะเสียภาษีถูกลง เหลือเพียง 0.5 (เพดานสูงสุด) จากเดิมภาษีโรงเรือนเรียกเก็บสูงถึงปีละ 12.5% ต่อปี แต่ปัญหาที่ตามมา ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของบ้านเช่ามักผลักภาระภาษีให้กับผู้เช่า
สำหรับ อัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามมูลค่าทรัพย์สิน มี 3 อัตรา ได้แก่ 1.ประเภทพาณิชยกรรม เพดานสูงสุดไม่เกิน 0.5% 2. ประเภทที่อยู่อาศัยไม่เกิน 0.1% และ 3.พื้นที่เกษตร ไม่เกิน 0.01 % แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ท้องถิ่นอาจจะกำหนดเกณฑ์จัดเก็บระยะแรกต่ำๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนแทนการจัดเก็บเต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดก็เป็นได้
ดร. ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครกล่าวว่า หากนำภาษีตัวนี้มาใช้กทม.จะจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 20,000 ล้านบาท จากเฉพาะบ้านเรือนประชาชนในกทม. จำนวนกว่า 2,000,000 หลังคาเรือน เทียบจากปัจจุบัน กทม.สามารถจัดเก็บภาษีโรงเรือนได้ปีละ 9,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี มองว่า ควรยกเว้น บ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยน่าจะเหมาะสมกว่า
ด้านนายแคล้ว ทองสม ผู้อำนวยการสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างประเมินราคาที่ดินใหม่ ที่มีความเคลื่อนไหวต่อการพัฒนา ทั้ง 30ล้านแปลงทั่วประเทศ เพื่อให้กรมที่ดินเรียกเก็บค่าจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรม และ ล่าสุด เพื่อให้กระทรวงการคลัง ใช้เป็นฐานเรียกเก็บภาษีที่ดินในอีก 2ปีข้างหน้า ตามนโยบายรัฐบาลซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศใช้ไปหลายพื้นที่
อย่างไรก็ดี เห็นด้วย ที่รัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เนื่องจาก ที่ผ่านมา เกิดการรั่วไหล ยกตัวอย่าง เขตบางเขนกทม.ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาบ้านจัดสรรขายมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยราคา ประเมินที่ดินในหมู่บ้านจัดสรรที่ประกาศใช้ปัจจุบัน เฉลี่ย 40,000-50,000บาทต่อตารางวา แต่ราคาปานกลางที่ดินปี 2521 ที่ใช้เป็นฐานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือน ขณะนี้ พื้นที่เดียวกันในหมู่บ้านจัดสรรราคาเพียง 60บาทต่อตารางวา เท่านั้น ซึ่ง มองว่า ไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ดีเกณฑ์การพิจารณาราคาประเมินที่ดิน จะดำเนินการทุกปี ตามที่มีการเคลื่อนไหว หากมีการพัฒนาบ้านจัดสรร บริเวณนั้นราคาประเมินจะปรับขึ้น 200% หากมีการตัดถนนใหม่เปิดหน้าดิน จะปรับขึ้น 200-300% ส่วนราคาที่ดินทั่วไปจะปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 5-10%
ต่อข้อถามที่ว่าในฐานะผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอนาคต มองว่ามีภาระเพิ่มหรือไม่ นายแคล้วกล่าวว่า ยอมรับว่า มีภาระเพิ่ม แต่ในมุมกลับกันเป็นเรื่องที่ดีเพื่อที่จะช่วยให้รัฐบาลสามารถนำรายได้ไปลง ทุนสาธารณูปโภค-บริการสาธารณะได้ เพราะจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มมากถึง 60,000-70,000ล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัว มีบ้านเดี่ยวอยู่ที่เขตบางเขน 100ตารางวา มูลค่า 5,000,000 บาท หาก คำนวณการจัดเก็บภาษีเต็มเพดาน จะเสียที่ 0.1 % จะเสียภาษีต่อปีจำนวน5,000บาท ซึ่ง มองว่าสูงไป หาก ท้องถิ่น เริ่มที่ อัตรา 0.01 % หรือ เสีย ปีละ 500 บาท ก็สามารถรับได้
ขณะที่ นายชิษณุชา เรืองศิริ ลูกบ้านสัมมากร ย่านรามคำแหงบ้านเลขที่ 200/4 กล่าวว่า ซื้อบ้าน ขนาด 60 ตารางวา เมื่อรวมสิ่งปลูกสร้าง ราคาอยู่ที่ 3,000,000 กว่าบาท หาก รัฐจัดเก็บภาษี 2,000-3,000บาทต่อปี มองว่าไม่สามารถรับได้เพราะถือว่าสูงเกินไป
นายสุพจน์ อึ่งทอง ลูกบ้านหมู่บ้านราณี 2 เขตลาดพร้าว กล่าวว่า บ้านอยู่อาศัยเป็นทาวน์เฮาส์ 18ตารางวา ปัจจุบันมูลค่า 1,000,000 -2,000,000บาท มองว่าไม่เห็นด้วยเพราะ ถือว่าเป็นภาระที่มากเกินไป
เช่นเดียวกับ นางสาวชัญญารัตน์ บงเจริญ ซื้อทาวน์เฮาส์อยู่ที่ จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเพิ่มภาระให้กับประชาชน ซึ่งปัจจุบันก็เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีรายจ่ายในชีวิตประจำวันขณะเดียวกันปัจจุบัน เศรษฐกิจไม่ดีหากจัดเก็บ ในช่วง1-2ปีนี้ คงแย่
สอดรับกับ นางสาวสุภาพร สุวรรณชัยฉัตร พนักงาน บริษัท ทรู คอเปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยเป็นการขูดรีดประชาชนที่ต้องการมีบ้านหลังแรกและสำหรับพักอาศัย เกินไป
น.พ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริหารบริษัท ราชธานีบ้านและที่ดิน จำกัด กล่าวว่า ยอมรับว่าผู้ประกอบการจะผลักภาระต้นทุนที่เกิดจากภาษีดังกล่าวให้กับผู้ซื้อ โดยบวกเข้าไปในราคาบ้าน ทำให้ซื้อบ้านแพงขึ้นสำหรับส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายตัวนี้ ให้เหมือนกับต่างประเทศ เพื่อที่จะนำรายได้มาพัฒนา ระบบสาธารณูปโภคให้ดีขึ้น แต่ควรบังคับใช้เฉพาะบ้านคนรวย และไม่ควรจัดเก็บบ้านหลังแรก อย่างไรก็ดี ยอมรับว่ามีที่ดินในมือทั่วประเทศ มากกว่า 10,000 ไร่ แต่หากเสียภาษีตัวนี้ก็หนักพอสมควร เพราะ 18 ปี เมื่อคำนวณแล้วจะเท่ากับมูลค่าของทรัพย์สินที่ถือครองอยู่